
Suvannaphumi Data Center
ศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ หรือศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ

ศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิคืออะไร?
ศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ข้อมูลด้านวัฒนธรรม หลักฐานโบราณคดี และเอกสารหายากภายใต้กรอบความคิดเดียวกันในพื้นที่ประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยสหวิทยาการเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยเน้นประเด็นความหมายของวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ ผ่านการศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์จากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยท้องถิ่น เจ้าของภาษา อาทิ ภาษาเมียนมา ภาษาเขมร ภาษามาเลเซีย ภาษาเวียดนาม และภาษาไทย เพื่อนำผลที่ได้ไปประมวลภาพรวมการรับรู้และเข้าใจวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ ผ่านมิติการศึกษาจากท้องถิ่น รวมถึงการเผยแพร่พัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและระบบโมบาย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

Highlight
ศูนย์วิจัยสหวิทยาการฯ ทำอะไรบ้าง?
กิจกรรมเผยแพร่ความรู้

ศูนย์วิจัยสหวิทยาการฯ ร่วมกับโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแก่เยาวชนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดความสำนึกรักบ้านเกิดและเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
กิจกรรมเยาวชน

ศูนย์วิจัยสหวิทยาการฯ ร่วมกับคณะนักวิจัยราชอาณาจักรกัมพูชา ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโบราณคดีเบื้องต้นแก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยการจัดอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้วิชาโบราณคดีภาคสนาม อาทิ กล้องระดับ เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีในสถานที่ปฏิบัติงานจริง
กิจกรรมอบรม

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564 ศูนย์วิจัยสหวิทยาการฯ ได้จัดกิจกรรมอบรมเกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำโบราณที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยได้รับความร่วมมือจากอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดน้ำที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมแก่บุคคลากรในท้องถิ่นและเยาวชน

คลังหนังสือออนไลน์โดยศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ | E-Book
คลังหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะในรูปแบบออนไลน์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่รวบรวมโดยศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ

Geo-Spatial Digital Archive Project (GDAP)
The objective of the system is to produce a demonstration system of online geo-spatial data service that user can search and access the data through various methods: text search, geo-location search, and meta-data search. The applications of the data will be for any studies that can utilize these data sets.


คลังพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในประเทศไทยโดยศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ | E-Museum
ศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิได้ทำการรวบรวมข้อมูลโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเพื่อจัดทำเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ ประกอบด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แผ่นหินสลักภาพพระพุทธรูปนาคปรก
จาก วัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ (๑,๑๐๐-๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)

ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐

ประติมากรรมปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๘๐๐ ปีมาแล้ว) พบที่โบราณสถานเนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ส่วนพักตร์ทำด้วยดินเผา เศียรเป็นปูนปั้น ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๑) พบที่วัดช้างรอบ จังหวัดกำแพงเพชร

พบที่ วัดหน้าพระเมรุ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (๔๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว)

ประติมากรรมนูนสูงสตรีสูงศักดิ์และนางกำนัล
พบที่เมืองโบราณคูบัว อำเภอเมืองราชำบุรี จังหวัดราชบุรี ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ (๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
เรียนรู้ไปกับศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ
ผ่านสารคดีและบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพันธกิจของ ‘ศูนย์วิจัยสหวิทยาการฯ’ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลสุวรรณภูมิ
The Researcher Season2 EP6 Remote Sensing
“เพราะความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเป็นนักวิชาการต้องสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน และต้องเปิดกว้างรับความเห็นของทุกคน”
พลตรี.รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ
Video Transcription
กาลิเลโอเคยกล่าวไว้ว่าความหลงใหลนำมาซึ่งอัจฉริยภาพ แล้วคุณล่ะ เคยมีความหลงใหลกับอะไรบ้างมั้ย จะเป็นเพราะชะตาหรือฟ้าลิขิตที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งเกิดความหลงใหลและชื่นชอบในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายและตัวหนังสือมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และวิธีคิดของผู้คนในอดีตเป็นสิ่งที่ชวนให้เขาสนใจ การได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นคือความสนุกอย่างหนึ่งของเด็กหนุ่มคนนี้ที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าความชื่นชอบนี้จะกลายเป็นผลงานวิจัยทางโบราณคดีที่สร้างปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ข้ามชาติในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนถึงวันนี้เด็กหนุ่มผู้หลงใหลในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์คนนั้นก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานวิจัยที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้าน Remote Sensing หรือเทคโนโลยีสื่อระยะไกล
Remote Sensing หรือเทคโนโลยีสื่อระยะไกล อาจฟังไม่คุ้นหูซักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายดาวเทียมละก็ น่าจะทำให้ใครหลายคนพอจะนึกออกว่ามันคืออะไร Remote Sensing ถูกนำมาใช้ในการสำรวจข้อมูลที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เพื่อใช้วิเคราะห์และวางแผนในการจัดการทรัพยากรและสภาพแวดล้อมโดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม เป็นการเก็บข้อมูลที่ได้จากตัวรับสัญญาณระยะไกลที่เรียกว่า Remote Sensing ซึ่งอาศัยคุณสมบัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสื่อนำข้อมูลของสิ่งต่างๆบนพื้นผิวโลกมายังตัวบันทึกโดยไม่ต้องสัมผัสกับวัตถุ
ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อนพันเอกรองศาสตราจารย์ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ เป็นนักวิจัยไทยที่ได้นำเทคโนโลยีสื่อสารระยะไกลหรือ Remote Sensing และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในงานศึกษาทางโบราณคดี ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นความแปลกใหม่สำหรับการสำรวจทางโบราณคดีทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลักษณะสหวิทยาการ
“จากการที่เราเห็นต่างชาติที่เขาทำงานด้านนี้ในประเทศอื่นๆที่เขาพบเจอเมืองในทะเลทรายจากการศึกษา Remote sensing แล้วก็คิดว่าเราน่าจะมีศักยภาพพอที่จะทำงานในลักษณะคล้ายกันในประเทศไทยก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมา โจทย์ที่เกิดขึ้นก็คือเรื่องของถนน”
ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างถนนซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นลายแทงชิ้นสำคัญที่พาอาจารย์สุรัตน์ไปสู่การสำรวจทางโบราณคดีและปลุกความชื่นชอบทางประวัติศาสตร์ที่มีในช่วงวัยหนุ่มให้กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง “
“พื้นที่ตรงนี้มันเป็นจุดเริ่มที่ผมสนใจเรื่องถนนจากเมืองพระนครมาถึงเมืองพิมายแล้วก็มาสำรวจในพื้นที่นี้ พื้นที่เนี่ยมีความชัดเจนของแนวถนนเป็นอย่างมาก ไอ้ที่เห็นเป็นคันนาเดิมมันเป็นคันดินยาวถ้าเราดูจากภาพถ่ายทางอากาศสมัย 2497 หรือ 2486 เราจะเห็นว่ามันเป็นคันดินยาวต่อเนื่องยาวเป็นเส้นตรงเลยซึ่งเป็นลักษณะของถนนที่เราพบในประเทศกัมพูชาแต่ในขณะเดียวกันเนี่ยผมก็ยังไม่สรุปว่ามันเป็นถนนมันก็เลยทำให้เกิดการศึกษาโครงการแรกของเราซึ่งศึกษาแนวถนนจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย”
การหาหลักฐานเพื่อมาสนับสนุนแนวความคิดนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลาย อาจารย์สุรัตน์จึงปรับรูปแบบการสำรวจศึกษาถนนโบราณให้เป็นในลักษณะสหวิทยาการ โดยการนำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีสื่อระยะไกล การสำรวจด้วยธรณีฟิสิกส์ และการใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการศึกษาทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาเพื่อช่วยค้นหาและกำหนดพิกัดแหล่งโบราณคดีรวมถึงร่องรอยหลักฐานต่างๆก่อนที่นักโบราณคดีจะทำการสำรวจภาคพื้นดิน
การศึกษาถนนโบราณในครั้งนั้นเป็นงานวิจัยที่อยู่ภายใต้โครงการ “ค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” หรือ “Living Angkor Road Project” โดยมีอาจารย์สุรัตน์เป็นหัวหน้าโครงการทำการศึกษาตั้งแต่พุทธศักราช 2548 ถึง 2551
“การศึกษาของเรื่องเส้นทางโบราณนี้ Remote sensing ไม่ใช่ตัวหลักแต่จะเป็นตัวช่วยทำให้เกิดการค้นพบได้อย่างสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น”
“โดยวิธีวิทยานะครับ แล้วก็ขั้นตอนการปฏิบัติงานเนี่ยพื้นที่มันไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้โดยง่าย เป็นพื้นที่ที่มีป่าปกคลุมหนาแน่นนะครับ แล้วก็จำเป็นที่จะต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียมหรือสื่อระยะไกลต่างๆเนี่ยเข้ามาประยุกต์ใช้เป็นตัวนำทาง”
อาจารย์พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นอีกหนึ่งนักวิจัยในโครงการที่ใช้องค์ความรู้ทางโบราณคดีร่วมกับการแปลความจากภาพถ่ายดาวเทียมหรือสื่อระยะไกลทำการสำรวจและค้นหาหลักฐานตามแนวถนนโบราณจนพบร่องรอยที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าถนนมีอยู่จริงตามข้อสันนิษฐานจากภาพถ่ายดาวเทียม
“อันนี้จะเป็นรูปโปรไฟล์หรือผังชั้นดินที่จะจำแนกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นถนน หรือไม่ใช่ หรือเป็นถนนปัจจุบัน ในทางโบราณคดีมันจะมีทั้งในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีนะครับ มีการสำรวจโดยการเดินเท้า ก็ยังมีการเก็บข้อมูลต่างๆมันก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเก็บข้อมูลในภาคสนามแบบหนึ่ง เรื่องของ The Living Angkor Road ก็สามารถนำมาใช้ได้เลยโดยอาศัยมาตรฐานแล้วก็ระเบียบวิธีวิจัยทางด้านโบราณคดี โดยหลักฐานโครงการเนี่ยนะครับมันเกี่ยวข้องกับหลักฐานทางโบราณคดีอยู่แล้วซึ่งก็จะเป็นพวกสิ่งก่อสร้างอาคารต่างๆที่เราเห็นว่ามันมีอยู่ แล้วก็สอดคล้องกับจารึกตัวเอกสารโบราณที่คล้ายๆกันบอกใบ้เอาไว้”
การศึกษาข้อมูลแปลความจากศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ร่วมกับการวิจัยในลักษณะสหวิทยาการโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเดิมจากกรมศิลปากรทำให้ทีมวิจัยค้นพบหลักฐานต่างๆที่มีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่น การสร้างโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาลและที่พักคนเดินทางซึ่งเรียกว่าบ้านมีไฟหรือธรรมศาลา และมีถนนสายหลักที่ตัดออกมาจากศูนย์กลางราชอาณาจักรกัมพูชาหรือเมืองพระนครมากถึง 5 เส้นทาง
ความงดงามของศิลปะเขมรโบราณที่พบในปราสาทพนมรุ้งรวมถึงจุดที่ตั้งเป็นอีกหนึ่งร่องรอยหลักฐานและปมปริศนาแห่งอดีตที่ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของถนนโบราณ เส้นทางจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย และไม่ไกลจากปราสาทพนมรุ้งมากนัก ปราสาทบ้านบุ โบราณสถานสำคัญของชุมชนบ้านบุในจังหวัดบุรีรัมย์ คือร่องรอยของธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางที่ปรากฏอยู่ตามแนวถนนโบราณเส้นนี้
“ในโครงการที่ 1 เราพบว่าตามแนวถนนเนี่ยมันมีชุมชนโบราณ มันมีอุตสาหกรรมโบราณขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ถลุงโลหะกับอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเรื่องของชุมชนโบราณก็จะเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันมันก็ขยายออกมาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมจากท้องถิ่นกลายเป็นโครงการความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค”
เมื่อองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยสามารถขยายไปสู่การศึกษาในด้านอื่นๆ แน่นอนว่าไม่เฉพาะประเทศกัมพูชาเท่านั้น การสืบค้นรากแห่งวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ได้ถูกกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้งลาว เวียดนาม และพม่า
“พอเริ่มเป็นโครงการขนาดใหญ่ คือได้รับทุนมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันสกว.ก็ยังสนับสนุนการดำเนินการของเราอยู่ ต้องขอบคุณสกว.เป็นอย่างมากเลยที่ได้เห็นความสำคัญของการดำเนินงานของเราว่ามันมีประโยชน์กับประเทศ”
การวิจัยในลักษณะสหวิทยาการทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนของถนนและชุมชนที่เคยมีชีวิตอยู่ตามเส้นทางในอดีตจนถึงปัจจุบันนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของผู้คนบนพื้นที่สุวรรณภูมิซึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ส่งผลให้ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นในปีพุทธศักราช 2556 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือสกว.
“ระหว่างเวลาที่ผ่านมาองค์ความรู้ต่างๆเนี่ยมันก็ค่อยๆสะสมเพิ่มขึ้น ผมเป็นคนที่คิดว่าความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะฉะนั้นเนี่ยไม่ว่าความรู้จากใครเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม ความเป็นนักวิชาการมันต้องเปิด ต้องเปิดกว้างรับความเห็นของทุกคน “
ในช่วงที่เว้นว่างจากการทำงานวิจัยอาจารย์สุรัตน์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาวิธีและเทคนิคในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อค้นหาข้อมูลใหม่ๆให้กับงานวิจัย ซึ่งองค์ความรู้จากการทำวิจัยตลอด 12 ปีของอาจารย์สุรัตน์และคณะทำงานได้ถูกรวบรวมไว้ที่ศูนย์วิจัยสหวิทยาการเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเป็นศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่หน่วยงาน นักวิชาการและเยาวชนทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
“งานวิจัยของอาจารย์สุรัตน์ก็เหมือนเปิดให้คนภายนอกได้เห็นภาพของโรงเรียนนายร้อยฯว่ามีทั้งความเป็นนักวิชาการและความเป็นนักรบอยู่ในตัว แล้วก็ตัวศูนย์วิจัยเองเนี่ยได้นำงานวิจัยเชิงวิชาการร่วมกับงานปฏิบัติการโดยเป็นสถานที่จัดงานวิจัยระดับนานาชาติ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่องค์พลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีท่านได้ทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของศูนย์วิจัย ทรงเจิมป้ายศูนย์วิจัยแห่งนี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ในงานนิทรรศการวิชาการของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า”
และเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าโดยอาจารย์สุรัตน์จึงร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทำการทดลองพัฒนา UAV หรือโดรนให้สามารถบันทึกภาพได้พิเศษมากขึ้นแต่มีราคาที่ถูกลง เพื่อใช้ในการสำรวจทางประวัติศาสตร์และนำภาพทางอากาศจากโดรนมาสร้างแบบจำลองสามมิติและนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรโดยที่แต่ละชุมชนสามารถใช้และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ได้ด้วยตนเอง
“แล้วก็สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคืออยากจะทำงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องของการพัฒนาชุมชนเราก็เลยอยากจะทำงานตรงนี้เพื่อให้เขามีความเป็นอยู่ได้ดีขึ้นจากในสิ่งที่เราทำได้”
“ข้อจำกัดหนึ่งของ Remote Sensing ที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมทางอากาศซึ่งจะมีปัญหาเรื่องของเมฆเพราะว่าบ้านเราจะมีเมฆเยอะแต่ในการประยุกต์ใช้โดรนเนี่ยในการเก็บภาพจากข้อมูลเราเก็บจากใต้เมฆก็คือเราจะไม่มีปัญหาเรื่องของเมฆ แล้วเราจะได้ข้อมูลที่มีความละเอียดค่อนข้างสูง”
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นจากการบันทึกภาพการเปลี่ยนเลนส์ชนิดพิเศษเข้าไปแทนที่เลนส์จากกล้องที่ติดมากับโดรนมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้กล้องและระบบบันทึกภาพเกิดความเสียหายแต่ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้าน Remote Sensing และคอมพิวเตอร์ของทีมงานการทดลองนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับอาจารย์สุรัตน์และสองนักวิจัย
“กล้อง UAV ตามท้องตลาดก็จะเป็น RGB ก็คือ Red Green Blue ตามสัมผัสของภาพนะครับแต่ว่าเลนส์พิเศษที่เราเอามาใช้เนี่ยเราดึงฟิลเตอร์ออก filter เนี่ยมันก็คือ RGB นั่นแหละฟิลเตอร์ที่เราเอาใส่เข้ามาใหม่เนี่ยจะมีแค่ 2 ช่วงคลื่น คือคลื่นแดงกับอินฟาเรด 2 ช่วงคลื่นเนี่ยเอามาคำนวณสำหรับแยกสิ่งแวดล้อมต่างๆออกจากกันได้ง่ายขึ้นรวมถึงสามารถบอกได้ว่าพืชนี้มีความสมบูรณ์ขนาดไหนต้องการน้ำไหมหรือเป็นโรคไหมก็จะเป็น index หนึ่งที่สามารถเอามาช่วยได้ในในงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม”
แม้ว่าการทดลองนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเทคโนโลยีแต่เชื่อว่าเมื่อการทดลองเสร็จสมบูรณ์โดรนจะเข้ามาเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรของไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นได้ในอนาคต
“อันหนึ่งที่อาจารย์สอนเสมอว่าถ้าเราเข้าใจเข้าถึงและพัฒนาเนี่ยทุกอย่างเป็นไปได้เสมอสำหรับงานวิจัย”
ด้วยความที่อาจารย์สุรัตน์เป็นนักคิด นักพัฒนา จึงใช้โดรนมาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงเยาวชนเข้ากับการเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จากโบราณสถานที่เคยผ่านหูผ่านตาจึงกลายมาเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ให้เด็กๆได้สวมบทบาทเป็นนักวิจัยสำรวจหาร่องรอยประวัติศาสตร์ที่อาจซุกซ่อนอยู่ตามซากโบราณสถานต่างๆทั้งฝั่งไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของโครงการยุววิจัยอาเซียนที่ต่อยอดมาจากผลการศึกษาในโครงการต่างๆของอาจารย์สุรัตน์ได้นำเยาวชนต่างเชื้อชาติมาร่วมกันศึกษาวิจัยและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันจากการทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ต่างมีพื้นฐานมาจากรากเดียวกันไม่เพียงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้นขึ้นแต่ยังทำให้เยาวชนเหล่านี้เกิดความรักและเห็นคุณค่าของโบราณสถานที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน
“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเนี่ยชุมชนตามแนวชายแดนส่วนมากก็ยังมีอคติต่อกันการที่เราจะไปให้ความรู้กับเด็กแล้วจากเด็กเนี่ยให้เขาไปถ่ายทอดให้ผู้ใหญ่เนี่ยมันจะง่ายกว่าการที่เราจะไปให้กับผู้ใหญ่โดยตรง”
โบราณสถานเขาศรีวิชัยหรือโบราณสถานเขาพระนารายณ์ที่เรียกตามคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนยังคงหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าไว้มากมายให้เหล่ายุววิจัยได้ย้อนเวลากลับไปเรียนรู้ถึงอดีตเริ่มแรกที่มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้
“ทางอาจารย์สุรัตน์เป็นผู้ประสานงานจัดโครงการยุววิจัยซึ่งก็จะมีนักเรียนมาศึกษาเรียนรู้ เด็กๆก็จะได้เห็นการทำงานที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรกว่าที่เราจะได้ข้อมูลหลักฐานต่างๆมานั้นนะครับต้องมีการจดบันทึกต้องมีการขุดค้นอย่างละเอียดรวมถึงการใช้เทคโนโลยีโดรนที่ถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมให้เป็นสหวิทยาการนะครับเป็นความรู้ที่หลากหลายนักเรียนทุกคนเนี่ยก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้โดยใช้ความสนใจของตัวเองเนี่ยมาพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดความรู้ของตัวเอง”
“ตอนแรกคือไม่รู้ค่ะ จะเป็นครูพาขึ้นไปบนเขาก่อนแล้วก็ครูก็บอกว่ามีโบราณสถานที่สำคัญและจากนั้นก็จะเป็นกรมศิลป์นะคะโครงการยุววิจัยพาขึ้นไปดูว่ามีโบราณสถานหลายแห่งถึงจะรู้ค่ะว่ามีโบราณสถานที่สำคัญ”
“นอกจากเด็กเขาจะรู้ว่ามีโบราณสถานในชุมชนแล้วเนี่ยเด็กเกิดความตระหนักเพราะว่าตัวเด็กเองได้ลงพื้นที่ก็เลยทำให้เขาเนี่ยเกิดความรักแล้วก็หวงแหนแล้วก็พร้อมที่จะเผยแพร่ความรู้ของเขาให้คนอื่นได้มามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานค่ะ”
จากการศึกษาเทวรูปพระวิษณุในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านของอาจารย์จีราวรรณนักวิจัยที่ร่วมทำการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะกับอาจารย์สุรัตน์พบว่างานศิลปกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ที่พบในพื้นที่เขาศรีวิชัย
“ประเด็นของเขาศรีวิชัยนี้ก็เป็นประเด็นของเทวรูปพระวิษณุที่มีความสำคัญ การค้นพบประติมากรรมพระวิษณุซึ่งส่วนใหญ่แล้วเนี่ยเราจะพบบริเวณที่เป็นเส้นทางการค้าอันนี้ก็จะไปเชื่อมโยงระหว่างกับเรื่องของที่มันเกี่ยวกับเส้นทางไม่ว่าจะเป็นเส้นทางวัฒนธรรมหรือว่าเส้นทางของการค้าและการเผยแพร่ศาสนานะคะ ตรงนี้ที่งานวิจัยที่รับผิดชอบอยู่เนี่ยมันก็สามารถที่จะไปตอบประเด็นตรงนี้ได้”
เรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ที่เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนและกระตุ้นให้เยาวชนได้หันกลับมามองว่าการร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของพวกเขา
“มีกรมศิลป์เข้ามาก็จะบอกว่าการขุดลูกปัดเป็นการผิดกฎหมายก็คือให้คนในชุมชนได้รู้ว่าลูกปัดก็เป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่ต้องอนุรักษ์ก็คืออย่าขุด”
“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้รับการส่งเสริมและดูแลเท่าที่ควร หลังจากที่มีการส่งเสริมกระตุ้นให้มีโครงการนี้ขึ้นก็ทำให้เกิดความร่วมมือทำให้เด็กได้เห็นความสำคัญเชื่อมโยงกับชุมชนทำให้เราเห็นคุณค่าของโบราณสถาน โบราณวัตถุเหล่านี้“
“ดีใจนะคะที่โบราณสถานเหล่านี้มีคนรู้จักมากขึ้น ก็จะทำให้มีความสำคัญ แต่ถ้าผู้คนรู้จักมากขึ้นแล้วไม่อนุรักษ์ ตรงนี้ก็จะรู้สึกไม่ค่อยภูมิใจเท่าไหร่”
“ผมไม่คาดหวังว่า ณ ปัจจุบันทุกอย่างมันจะดีขึ้นทันทีทันใดในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างชุมชนแต่ผมหวังว่าเมื่อเยาวชนที่เราให้ความรู้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีที่มีความรับผิดชอบที่มีความเข้าใจเรื่องของในอดีต ปัจจุบันและจะทำอะไรในอนาคตมากกว่า”
จากความทุ่มเทและการแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้งของอาจารย์สุรัตน์และทีมวิจัยทำให้โครงการวิจัยเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน และนี่คือบทพิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาติเชื่อมต่อได้ด้วยองค์ความรู้ของผลงานวิจัยที่จุดประกายจากเทคโนโลยี Remote Sensing
“เรื่องของเทคโนโลยีสื่อระยะไกลเนี่ยมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของทางวัฒนธรรมอย่างเดียว หลักการเดียวกันแต่สามารถไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งทางทหาร ทางการเกษตร ทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะฉะนั้นงานวิจัยนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของทางวิชาการ เรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม พม่า พยายามให้ความรู้กับเขา ให้เขาเข้าใจ แล้วทำยังไงที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”
ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศและทหารในแบบอาจารย์สุรัตน์ก็กำลังใช้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าเพื่อปกป้องประเทศภายใต้แนวคิดที่ว่ายุทธศาสตร์ของการทำสงครามคือการไม่ต้องทำสงคราม และนี่คือความหมายของชนะโดยไม่ต้องรบโดยพันเอกรองศาสตราจารย์ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ